กลุ่มวิชาการพยาบาลเด็กและวัยรุ่น ดำเนินการจัดโครงการพัฒนารูปแบบการป้องกันและแก้ปัญหาการติดสื่อดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชนด้วยพลังบวกแบบบูรณาการ ในโรงเรียนท่าม่วงวิทยาคม ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์/สภาพปัญหาและปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดสื่อดิจิทัลของเด็กและเยาวชน ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด พัฒนารูปแบบการป้องกันการติดสื่อดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชนด้วยพลังบวกแบบบูรณาการ และประเมินผลการพัฒนารูปแบบการป้องกันการติดสื่อดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชนด้วยพลังบวกแบบบูรณาการ ดำเนินการในช่วง เดือนมกราคม –กันยายน 2565 มีการดำเนินการ 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) การศึกษาบริบทชุมชนและวิเคราะห์ปัญหาในการทำงาน 2) การกำหนดแนวทางและหาวิธีการแก้ไขปัญหา 3) การจัดทำแผนปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม 4) การนำแผนไปปฏิบัติ 5) ประเมินผลรูปแบบ 6) สรุปอภิปรายผลและข้อเสนอแนะ หลังการพัฒนารูปแบบส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ด้านการใช้สื่อดิจิทัลอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 85.25) และการติดสื่อดิจิทัล (ร้อยละ 18.57) ดีขึ้นกว่าก่อนใช้รูปแบบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ทั้งนี้ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการพัฒนารูปแบบการป้องกันการติดสื่อดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชนครั้งนี้ประกอบด้วยการใช้กระบวนการเรียนรู้และจัดทำแผนแบบมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยการรับรู้ ให้ข้อคิดเห็น ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมตรวจสอบเป็นเจ้าของ มุ่งเน้นส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กเยาวชน และสถานศึกษา โดยการให้อำนาจและพัฒนาศักยภาพในการคิดค้นวิเคราะห์ปัญหา หาสาเหตุและตัดสินใจเลือกแนวทางในการแก้ไขและพัฒนาด้วยตนเอง การถ่ายทอดความรู้สู่กลุ่มเป้าหมายผ่านวิธีการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้สามารถรับรู้ข้อมูลได้มากที่สุด









